ค้นหาบล็อกนี้

วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ชนกลุ่มน้อย

ชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย


ชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ตามลักษณะการแบ่งชนกลุ่มน้อยตามกฎหมายระหว่างประเทศ คือ

1. ชนกลุ่มน้อย (Minorities) ในประเทศไทย
2. ชนท้องถิ่นดั้งเดิม (Indigenous peoples) ในประเทศไทย



        ชนกลุ่มน้อย



ในประเทศไทย นอกจากความเข้าใจทั่วๆ ไป ก็ได้มีความพยายามในการให้ความหมายของคำว่าชนกลุ่มน้อยไว้ เช่น ให้หมายถึง กลุ่มชนที่อพยพเข้ามาอยู่รวมกันในดินแดนของประเทศไทยโดยกลุ่มชนนั้นยังมีความผูกพันระหว่างกันในด้านเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา ขนบธรรมเนียมและความเป็นอยู่อย่างเดียวกัน แต่แตกต่างกับประชาชนส่วนใหญ่เจ้าของประเทศ และชนกลุ่มนั้น ๆ มีความรู้สึกในด้านจิตใจของตนเองถึงความแตกต่างดังกล่าว


กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้ให้คำจำกัดความชนกลุ่มน้อยว่า กลุ่มชนที่ไม่ใช่คนไทย มีจำนวนน้อยกว่าเจ้าของประเทศ และมีวัฒนธรรมแตกต่างกันไป อาศัยอยู่ในประเทศไทย อาจเป็นชนกลุ่มน้อยดั้งเดิม เช่น ชาวเขา หรือเป็นผู้อพยพเข้ามา หลบหนีเข้าเมือง หรือเข้ามาพักชั่วคราว รวม 11 กลุ่ม คือ

1.    ญวนอพยพ คือ คนเวียดนามที่หนีการปราบปรามของฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2488 ? 2489 มาอาศัยอยู่ในพื้นที่ 13 จังหวัดของประเทศไทย คือ นครพนม มุกดาหาร หนองคาย อุบลราชธานี อุดรธานี ยโสธร สกลนคร ปราจีนบุรี สุราษฎร์ธานี พัทลุง หนองบัวลำภู สระแก้ว และอำนาจเจริญ

2.       จีน แบ่งเป็นหลายกลุ่มย่อย ดังนี้

2.1  อดีตทหารจีนคณะชาติ (อดีต ทจช.) คือ อดีตทหารกองพล 93 และครอบครัวของจีนไต้หวัน ที่หลบหนีจีนคอมมิวนิสต์เข้ามาในเขตจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497

2.2   จีนฮ่ออพยพ คือ คนจีนอพยพพร้อมครอบครัวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 ? 2504 ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน
2.3  จีนฮ่ออิสระ คือ คนจีนที่อ้างว่าเป็นญาติของ 2 กลุ่มแรก หรือ หลบหนีเข้าเมืองเองบ้าง ตั้งแต่ พ.ศ. 2505 ? 2532 ปัจจุบันถูกควบคุมให้อยู่ภายในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และพะเยา ทั้งนี้รัฐยังถือว่ากลุ่มนี้เป็นผู้หลบหนีจากประเทศจีน ไม่มีนโยบายจะให้สัญชาติเหมือนกับจีนฮ่อ 2 กลุ่มแรก

3.    อดีตโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา (อดีต จคม.) คือ กลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ที่เคยร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์มลายาเก่า ในจังหวัดยะลา นราธิวาส และสงขลา และได้เข้ามอบตัวต่อทางการไทยเมื่อปี พ.ศ. 2530

4.    ไทยลื้อ คือ คนเชื้อสายไทยในแคว้นสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ที่อพยพมาอยู่ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และพะเยา เมื่อประมาณ 300 ปีมาแล้ว

5.    ลาวอพยพ คือ คนลาวจากประเทศลาวที่อพยพมา โดยเฉพาะหลังปี พ.ศ. 2517 ที่ลาวมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยกระจายอยู่ในจังหวัดหนองคาย อุบลราชธานี เลย อุตรดิตถ์ นครพนม มุกดาหาร พะเยา เชียงราย และน่าน

6.    เนปาลอพยพ คือ คนเนปาลที่อยู่ในพม่าสมัยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และถูกขับไล่ออกมาหลังจากพม่าได้รับอิสรภาพ ปัจจุบันรัฐจำกัดพื้นที่ให้อยู่ในอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรีเพียงแห่งเดียว

7.       ชนกลุ่มน้อยชาวพม่า  แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

7.1  ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า คือบุคคลจากประเทศพม่าหลายเชื้อชาติที่อพยพเข้ามาก่อนวันที่ 9 มีนาคม 2519 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบสังคมนิยมของรัฐบาลนายพลเนวิน โดยอาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ตาก แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง

7.2   ผู้หลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า คือผู้หลบหนีเข้าเมืองหลัง 9 มีนาคม 2519

7.3  ผู้ใช้แรงงานจากพม่า คือบุคคลสัญชาติพม่า ที่เข้ามาใช้แรงงานตามแนวชายแดน และอาศัยอยู่กับนายจ้าง โดยรัฐบาลมีนโยบายผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ชั่วคราว

7.4  ผู้หลบหนีจากการสู้รบในพม่า คือ บุคคลเชื้อชาติต่าง ๆ ซึ่งหลบหนีการปราบปรามชนกลุ่มน้อยของรัฐบาลทหารพม่ามาอยู่ในพื้นที่ศูนย์พักพิงต่าง ๆ ในจังหวัดแนวชายแดนติดกับประเทศพม่า

7.5   นักศึกษาพม่าที่หลบหนีการปราบปรามของรัฐบาลพม่า เริ่มเข้ามาเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปี พ.ศ. 2531

8.    ผู้อพยพเชื้อสายไทยจากเกาะกง ประเทศกัมพูชา คือคนไทยจากเกาะกง ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นดินแดนของไทย เมื่อปี พ.ศ. 2517 กัมพูชามีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงได้อพยพเข้ามาอยู่ในจังหวัดตราด ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2534 ให้บุคคลเหล่านี้แปลงสัญชาติเป็นไทยได้ แต่ยังคงเหลือที่พิสูจน์ไม่ได้แน่ชัดว่าเป็นคนไทยหรือไม่อีกจำนวนหนึ่ง

9.       ผู้หลบหนีเข้าเมืองจากกัมพูชา  คือคนเชื้อสายกัมพูชาที่อพยพเข้ามาประเทศไทย

10.  ผู้พลัดถิ่นพม่าเชื้อสายไทย คือคนไทยที่อาศัยอยู่ในดินแดนที่ถูกอังกฤษปักปันเขตกลายเป็นของพม่า หรือคนไทยที่เข้าไปทำงานในพม่าเมื่อ 40 ? 50 ปีก่อน เมื่อประเทศพม่ามีความไม่สงบบ่อยครั้ง ก็ได้อพยพกลับมาประเทศไทย โดยอยู่ในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระนอง ตาก และชุมพร มีจำนวนประมาณ 7,849 คน รัฐบาลไทยมีนโยบายให้แปลงสัญชาติได้เช่นเดียวกับคนไทยจากเกาะกง

11.  บุคคลบนพื้นที่สูงและชาวเขา คือชนกลุ่มน้อยที่ตั้งถิ่นฐานบริเวณป่าเขาในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันตกรวม 20 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พะเยา ตาก สุโขทัย น่าน กำแพงเพชร แพร่ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย อุทัยธานี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ โดยแบ่งเป็นเผ่าสำคัญ 9 เผ่า คือ ม้ง อีก้อ(อาข่า) เย้า(เมี่ยน) กะเหรี่ยง ลีซอ(ลีซู) มูเซอ(ลาหู่) ลัวะ ถิ่น ขมุ และนอกจากนี้ยังแบ่งชาวเขาออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

(1)    ชาวไทยภูเขา คือ ชาวเขาที่มีถิ่นฐานดั้งเดิมในประเทศไทย เป็นคนไทยบางกลุ่มได้รับการพิจารณาให้สัญชาติไทยแล้ว แต่บางกลุ่มยังไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์ เนื่องจากตกสำรวจ หรือมีถิ่นที่อยู่ห่างไกล ไม่สามารถติดต่อกับทางราชการได้ ซึ่งต้องดำเนินการตามระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ.2543

(2)    ชาวเขาอพยพออกจากนอกประเทศ แม้ลูกหลานที่จะเกิดมาในประเทศไทยก็ไม่ได้รับสัญชาติไทย เพราะผลพวงของพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไข(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ซึ่งปัจจุบันทางราชการได้กำหนดคุณสมบัติให้บางกลุ่มสามารถไปขอสถานะบุคคลต่างด้าวเข้าเมืองถูกกฎหมายแล้ว


การแบ่งกลุ่มชาวไทยภูเขาตามลักษณะภาษา  มี  3  กลุ่ม  คือ

1.  กลุ่มจีน ? ทิเบต  มี  มูเซอ  ลีซอ   อีก้อ  และกลุ่มภาษากะเหรี่ยง
2.  กลุ่มออสโตร-อาเซีย  คือ  กลุ่มภาษา  มอญ  เขมร  ได้แก่ ลัวะ  ขมุ  ถิ่น พวกมลาบรีหรือผีตองเหลือง
3.  กลุ่มออสโตร- ไทย  มี แม้ว(ม้ง)

    นอกจากนี้ยังได้หมายถึง กลุ่มชนที่รวมกันอยู่ในดินแดนของประเทศใดประเทศหนึ่ง โดยกลุ่มชนนั้นมีความผูกพันระหว่างกันในด้านเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา ขนบธรรมเนียมและความเป็นอยู่อย่างเดียวกัน แต่แตกต่างกับประชาชนส่วนใหญ่เจ้าของประเทศนั้น ๆ และกลุ่มชนนั้น ๆ มีความรู้สึกในด้านจิตใจของตนเองถึงความแตกต่างกันดังกล่าว แล้วลำพังถ้าชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในดินแดนของประเทศต่าง ๆ ประกอบอาชีพและอาศัยอยู่ด้วยความสงบสุขเช่นเดียวกับปวงชนที่มีอิสรภาพและสันติสุข ปัญหาทั้งหลายในเรื่องชนกลุ่มน้อยในแต่ละประเทศคงจะไม่เกิดขึ้น แต่ชนกลุ่มน้อยหาเป็นเช่นนั้นไม่ หลายประเทศในตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชียประสบปัญหาชนกลุ่มน้อย ขณะที่กำลังเร่งรัดพัฒนาประเทศอยู่ ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งซึ่งนับได้ว่ามีปัญหาเรื่องชนกลุ่มน้อย ซึ่งมีทั้งปัญหาทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม อันอาจนำมาสู่ปัญหาใหญ่ ต่อไปในภายหลังได้


        หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในองค์การสหประชาชาติได้พยายามริเริ่มก่อตั้งฐานะของชนกลุ่มน้อย กำหนดองค์ประกอบของความเป็นชนกลุ่มน้อย เช่น ควรจะหมายรวมเฉพาะกลุ่มชนที่ไม่อาจแสดงความเด่นในฐานะเป็นเจ้าของประเทศ และประสงค์จะอนุรักษ์เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ขนบธรรมเนียม หรือพฤติกรรมการกระทำที่มีความแตกต่างจากชนกลุ่มใหญ่ ซึ่งก็ยังมีข้อจำกัดมากมาย เช่น องค์ประกอบทางด้านจำนวนของชนกลุ่มน้อยที่เป็นจำนวนประชากรส่วนน้อยกว่าประชากรส่วนใหญ่ในประเทศ และมีความเป็นอยู่เรียบง่าย รวมทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นจากการผสมกลมกลืนกับชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ


        ความเข้าใจความหมายของคำว่า ชนกลุ่มน้อย ภายในประเทศไทยยังไม่ตรงกับองค์ประกอบของความเป็นชนกลุ่มน้อยหรือชนท้องถิ่นดั้งเดิมขององค์การสหประชาชาติเท่าใดนัก โดยประเทศไทยยอมรับความเป็นชนกลุ่มน้อยในลักษณะที่กว้างขวางกว่านิยามขององค์การสหประชาชาติ แต่ในขณะเดียวกันในองค์กรระหว่างประเทศ ประเทศไทยกลับได้พยายามปฏิเสธการยอมรับว่ามีชนกลุ่มน้อยตามคำนิยามของกฎหมายระหว่างประเทศต่อองค์การสหประชาชาติ ซึ่งแม้จะปฏิเสธเช่นนั้น องค์การสหประชาชาติก็ถือว่าประเทศไทยมีชนกลุ่มน้อย และได้นำประเด็นปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชนกลุ่มน้อยของประเทศไทยมาพิจารณาด้วย ซึ่งอาจทำให้ประเทศไทยต้องมีภาระหน้านที่เกินกว่าตราสารระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกซึ่งได้กำหนดพันธกรณีไว้ หรือในบางครั้งการไม่เข้าใจถึงความหมายของชนท้องถิ่นดั้งเดิมอย่างเพียงพอ ก็ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในสังคมลุกลามยืดเยื้อตลอดมา



        ชนท้องถิ่นดั้งเดิม เป็นกลุ่มชนที่ยังคงลักษณะวัฒนธรรมประเพณีที่มีมาตั้งแต่ดั้งเดิม แต่ก็มีบางกลุ่มชนที่มีการผสมผสานวัฒนธรรมของคนไทยจนกลมกลืนแทบเป็นวัฒนธรรมเดียวกัน เช่น ไทยจีน ไทยมาเลย์ ไทยโซ่ง ฯลฯ  ซึ่งจากความเป็นมาทางประวัติศาสตร์สสามารถแบ่งตามลักษณะของการอาศัยอยู่ในประเทศไทยดังนี้


       1. ญัฮกุ้ร (Nyahkur)
       2. มอเก็น หรือชาวเล (Morken)
       3. ซาไก หรือสินอย เงาะ ชาวป่า (Sakai, Senoi)
       4. ชอง (Chong)
       5. เซมัง หรือเงาะป่า (Semang)
       6. ลัวะ (Lua)
       7. ไทเขิน (Tai Kheun)
       8. มลาบรี หรือผีตองเหลือง (Mlabri , phi tongn luang)
       9. ละว้า
            10. กะเหรี่ยง
            11. ไทยเบิ้ง
            12. ไทยมลายู หรือไทยมาเลย์ หรือไทยมุสลิม



        โดยเหตุที่ชนท้องถิ่มดั้งเดิมที่เป็นไทยมลายู หรือไทยมาเลย์ หรือไทยมุสลิมเป็นชนกล่มน้อยที่มีจำนวนมากในประเทศไทย และปรากฎกรณีความไม่สงบเป็นระยะ ๆ ตลอดมา จนเกิดเป็นสถานการณ์ที่รุนแรงยิ่งขึ้น จึงควรทราบถึงความเป็นมาของชนท้องถิ่นดั้งเดิมประเภทนี้เพื่อประกอบการวิเคราะห์สิทธิของชนกลุ่มน้อยต่อไป


        ไทยมลายู หรือไทยมาเลย์ หรือไทยมุสลิม ชนกลุ่มกลุ่มนี้เรียกชื่อรวม ๆ ว่าเป็นคนไทยที่อาศัยอยู่ในสี่จังหวัดภาคใต้ อันประกอบด้วย จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล แทนที่จะเรียกกันเป็นจังหวัดมีสภาพสังคมและวัฒนธรรมบางอย่างแตกต่างไปจากคนไทยในภาคอื่น ๆ เช่น การนับถือศาสนา การแต่งกาย การใช้ภาษาพูด ขนบธรรมเนียมประเพณี และเคยมีอิสระในการปกครองในฐานะประเทศราชมาด้วยกันหรือภายใต้อาณาจักรเดียวกัน


        ทางราชการได้เรียกจังหวัดต่าง ๆ ดังกล่าววว่าสี่จังหวัดภาคใต้เรื่อยมา จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2506 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ใช้คำว่า "จังหวัดชายแดนภาคใต้" แทนการเรียกว่า "สี่จังหวัดภาคใต้"


    ชาวไทยมุสลิมในสี่จังหวัดภาคใต้นั้นมีความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของตนเองค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ "อารยธรรมปัตตานี" หรือารยธรรมอิสลามและเมืองปัตตานี ที่ตกอยู่ในอำนาจของประเทศไทยตั้งแต่สมัยใดไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัด


        สมัยกรุงศรีอยุธยา อาณาเขตของไทยยังคงแผ่คลุมแหลมมลายูทั้งหมด เมืองปัตตานียังคงขึ้นกับไทย โดยมีฐานะเป็นเมืองประเทศราช


        สมัยกรุงธนบุรี เมืองปัตตานียังคงอยู่รวมกับกรุงศรีอยุธยาต่อมา จนกระทั้ง กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า เมื่อ พ.ศ. 2310 เมืองปัตตานีจึงได้ตั้งตัวเป็นอิสระ เรื่อยมาตลอดสมัยกรุงธนบุรี ซึ่งในสมัยนั้น พระเจ้ากรุงธนบุรีตีได้แต่เมืองนครศรีธรรมราชเท่านั้น ไม่ได้เสด็จลงไปปราบหัวเมืองมลายู


        สมัยยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตรงกับพ.ศ. 2328 พระเจ้า อังวะปะดุง ยกกองทัพเข้ามาตีประเทศไทย กองทัพหลวงยกกองทัพลงไปปราบปรามพม่าที่หัวเมืองมลายู เมื่อตีพม่าแตกหนีกลับไปหมดแล้ว จึงได้เลยออกไปยังหัวเมืองแขก คือเมืองปัตตานี เมืองไทรบุรี เมืองตรังกานู ให้มายอมเป็นเมืองขึ้นดังแต่ก่อน พระยาปัตตานีขัดขืน กองทัพไทยจึงยกไปตี ได้เมืองปัตตานี และทรงได้ตั้งเชื้อสายของเจ้าเมืองปัตตานีเดิมเป็นพระยาปัตตานี เรียกว่า "รายาปัตตานี" มีหน้าที่ ปกครองดูแลเมืองปัตตานี และให้อยู่ในความดูแลของเมืองสงขลาต่อไป


         ปี พ.ศ. 2334 ปัตตานีก่อการกบฏขึ้น จึงได้มีการจัดระเบียบการปกครองหัวเมืองปัตตานีเสียใหม่ ในปีพ.ศ. 2359  ต่อมาในปี พ.ศ. 2440 ได้เปลี่ยนการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาลโดยใน พ.ศ. 2444 ได้ตั้งข้อบังคับสำหรับการปกครองดินแดนส่วนนี้ เรียกว่า "กฎข้อบังคับสำหรับปกครองบริเวณ 7 หัวเมือง ร.ศ. 120"  จนกระทั่ง ปีพ.ศ. 2449 จึงได้ปรับปรุงอาณาเขตหัวเมืองทั้ง 7 ใหม่ และยกขึ้นเป็นมณฑลชื่อว่า "มณฑลปัตตานี" 



ขอบคุณข้อมูลจาก
gotoknow.org